ในกรณีที่มีการฟ้องคดีขอให้ส่งมอบบุตรคืน หรือฟ้องเรียกลูกคืนนั่นเองครับ ต่อศาลเยาวชนและครอบครัว และต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยส่งมอบบุตรคืนแล้ว แต่จำเลยไม่คืน เราซึ่งเป็นโจทก์จะต้องดำเนินการบังคับคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 161 คือ
ขอออกหมายเรียกหรือหมายจับจำเลยหรือผู้ที่ถูกคำสั่งบังคับ ให้มาไต่สวนและตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หากบุคคลนั้นยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับอีก โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีพฤติการณ์จงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ ศาลจะมีอำนาจสั่งให้กักขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับนั้นได้
กรณีที่ไม่ส่งมอบลูกคืน จึงไม่อาจใช้วิธีการขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ไปดำเนินการ เหมือนกับการบังคับคดีกรณีหนี้ส่งมอบหรือส่งคืนทรัพย์สินได้
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
มาตรา 161 เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำบังคับที่ไม่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 159 หากความปรากฏต่อศาลเองหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้แทนหรือผู้มีส่วนได้เสียร้องต่อศาลว่าคู่ความหรือผู้ที่ถูกคำสั่งบังคับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับตัวมาไต่สวนและตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับอีกโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีพฤติการณ์จงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ ให้ศาลมีอำนาจกักขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับ แต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่าสิบห้าวันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว