ทนายความชั้นหนึ่ง

บ่อยครั้งที่จะเห็นป้ายชื่อสำนักงานทนายความเขียนว่า ทนายความชั้นหนึ่ง นั้นคืออะไรและมีที่มาอย่างไร

แต่ก่อนมีพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 ได้ระบุไว้ว่า ทนายความได้แก่ ผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตจากเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งจะแบ่งเป็น

– ทนายความชั้นหนึ่ง มีสิทธิว่าความในศาลได้ทั่วราชอาณาจักร และ

– ทนายความชั้นสอง มีสิทธิว่าความในศาลในเขตจังหวัดรวม ๑๐ จังหวัด ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และมีสิทธิว่าความในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา เฉพาะคดีที่ศาลชั้นต้นในเขตจังหวัดดังกล่าวได้พิจารณาหรือสั่ง และมีสิทธิตามประเด็นไปว่าความในศาลอื่นได้ด้วย

ทนายความชั้นหนึ่งจะต้องเป็นสามัญสมาชิกหรือสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา ส่วนทนายความชั้นสองจะต้องสอบความรู้ได้ตามที่เนติบัณฑิตยสภากำหนดให้มีการสอบ หรือมีอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชานิติศาสตร์จากสถานศึกษาที่เนติบัณฑิตยสภาเห็นว่ามีมาตรฐานการศึกษาที่ผู้ได้รับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรควรเป็นทนายความได้

ด้วยความแตกต่างนี้ ทนายรุ่นเก่าที่เป็นทนายความชั้นหนึ่งก็มักจะนำข้อได้เปรียบที่ว่าความได้ทั่วราชอาณาจักรมาเป็นจุดขาย

แต่ปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ไม่ได้มีการแบ่งทนายออกเป็นทนายความชั้นหนึ่งหรือทนายความชั้นสองอีกต่อไปแล้ว ทนายที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดจะมีศักดิ์และสิทธิเหมือนกันทุกคน

ดังนั้นถ้ายังเห็นป้าย ทนายความชั้นหนึ่ง ที่หน้าสำนักงานทนายความอยู่อีก แสดงว่าเป็นป้ายเก่าอยู่