ขับรถชนในระยะกระชั้นชิด จะผิดหรือไม่

แม้จำเลยจะขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูง แต่จำเลยขับรถในทางเดินรถของตนโดยถูกต้อง ส่วน ส. มิได้จอดรถเพื่อรอกลับรถในช่องกลับรถอย่างในภาวะปกติธรรมดา หากแต่เป็นเพราะรถที่ ส. ขับเกิดเสียการทรงตัวแล้วหมุนเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย และขวางรถที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิด ในภาวะเช่นนั้นไม่ว่าจำเลยจะขับมาในลักษณะเช่นใด จำเลยย่อมไม่อาจจะหลบหลีกเพื่อมิให้ชนกับรถที่ ส. ขับได้ ดังนั้น การที่จำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูงและไม่ขับให้อยู่ในช่องเดินรถด้านซ้าย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4883/2553

ป.อ. มาตรา 291

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43(4) , 157

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายพฤตินัยบุตรของนายสังคมกับนางสมพิศผู้ตายและนางพรทิพย์มารดาของเด็กชายธนูดมผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการมาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายสังคมขับรถยนต์ไปตามถนนสายเอเชียขาเข้าจากจังหวัดชัยนาทมุ่งหน้าจังหวัดสิงห์บุรีมีนางสมพิศเด็กหญิงเกตุกวีและเด็กชายธนูดมโดยสารอยู่ในรถ ส่วนจำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงไปตามถนนสายเอเชียขาขึ้นจากจังหวัดสิงห์บุรีมุ่งหน้าไปยังจังหวัดชัยนาทโดยมีเกาะกลางกั้นถนนทั้งสองฝั่ง เมื่อถึงที่เกิดเหตุระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 149 ถึง 150 รถที่นายสังคมขับเสียการทรงตัวหมุนผ่านบริเวณช่องกลับรถเข้าไปในทางเดินรถของจำเลยในระยะกระชั้นชิดด้วยความประมาทของนายสังคมเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันอย่างแรงแล้วเกิดไปลุกไหม้และตกลงไปข้างถนนด้านซ้าย ทำให้นายสังคม นางสมพิศ เด็กหญิงเกตุกวีและเด็กชายธนูดมถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ พยานโจทก์มีพันตำรวจโทอนุศักดิ์พนักงานสอบสวนเบิกความว่า พยานไปตรวจที่เกิดเหตุและพบจำเลยซึ่งให้การว่ารถยนต์เก๋งหมุนมาจากทิศใดไม่ทราบ จากการตรวจที่เกิดเหตุพบจุดชนและรอยครูดจากจุดชนไปถึงจุดที่รถยนต์ทั้งสองคันตกไปข้างถนนมีระยะทาง70 เมตร พยานแจ้งข้อหาและสอบสวนจำเลย เห็นว่า พันตำรวจโทอนุศักดิ์เป็นพนักงานสอบสวนซึ่งพบเห็นสถานที่เกิดเหตุมาด้วยตนเองและไม่มีส่วนได้เสียกับทั้งสองฝ่าย คำเบิกความของพันตำรวจโทอนุศักดิ์จึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ส่วนข้อที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยขับรถยนต์ด้วยความเร็วประมาณ 50 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ไม่ตรงกับที่จำเลยเคยให้การในชั้นสอบสวนว่า ขับรถยนต์ด้วยความเร็วประมาณ 70 ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงคำเบิกความของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อ ประกอบกับลักษณะของการเฉี่ยวชนที่มีความรุนแรงและเกิดความเสียหายอย่างมากตามภาพถ่าย มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูง แต่อย่างไรก็ตามจำเลยขับรถในทางเดินรถของตนโดยถูกต้อง ส่วนนายสังคมมิได้จอดรถเพื่อรอกลับรถในช่องกลับรถอย่างในภาวะปกติธรรมดา หากแต่เป็นเพราะรถที่นายสังคมขับเกิดเสียการทรงตัวแล้วหมุนเข้าไปในทางเดินรถของจำเลยและขวางรถที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิด ในภาวะเช่นนั้นไม่ว่าจำเลยจะขับมาในลักษณะเช่นใดจำเลยย่อมไม่อาจที่จะหลบหลีกเพื่อมิให้ชนกับรถที่นายสังคมขับได้ ดังนั้น การที่จำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูงและไม่ขับให้อยู่ในช่องเดินรถด้านซ้ายจึงมิใช่เป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยมีส่วนประมาทด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฎีกาของจำเลยฟังขั้น”

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์