คำให้การแพ่ง 177 ว.2

จำเลยต้องให้การโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น หรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย มิฉะนั้นถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท

 

ป.วิ.แพ่ง  ม.177  เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน

ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น

จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก

ให้ศาลตรวจดูคำให้การนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้คืนไปหรือสั่งไม่รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18

บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) โดยอนุโลม

 

เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน มิฉะนั้นกฎหมายถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ มีผลให้ศาลเพียงแต่พิจารณาจากพยานหลักฐานโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น

 

จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความ จะต้องให้การว่า คดีขาดอายุความเรื่องอะไร โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตั้งแต่เมื่อใด นับแต่วันใดจนถึงวันฟ้อง เกินกี่ปีแล้ว โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด คดีจึงขาดอายุความ ถึงจะเป็นคำให้การที่ชัดแจ้ง

 

คำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง หรือขัดแย้งกันเอง หรือไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ กฎหมายถือว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ม.177 ว.2 ทำให้คดีไม่มีประเด็นเรื่องนั้นที่จะต้องพิจารณา

 

คำให้การที่ขัดแย้งกันเอง แม้จะไม่ชอบด้วย ม.177 ว.2 ก็ตาม แต่ก็ยังมีประเด็นตามคำให้การในตอนแรกอยู่ ไม่ทำให้คำให้การเสียไปทั้งหมดหรือถือว่ารับตามคำฟ้องแต่อย่างใด  แต่คำให้การดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์

 

แม้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญา และต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความด้วยก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง

 

คดีไม่มีข้อพิพาท เมื่อมีผู้คัดค้านเข้ามา จึงกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทตาม ม.188 (4) คำคัดค้านจึงถือเป็นคำคู่ความ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม ม.177 ว.2 ด้วย