ซื้อขายออนไลน์ โดนโกง ไม่ได้รับของ สินค้าไม่ตรงปก ฟ้องคดีเองได้ ไม่ต้องไปศาล

เนื่องจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมกันอย่างมาก แต่ก็เกิดปัญหาตามมาเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะถูกโกง ถูกหลอกลวง สั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับของ สินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก ไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ หรือกรณีการสั่งซื้อแบบเก็บเงินปลายทาง (COD) แล้วผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้า เป็นต้น ศาลแพ่งจึงได้เปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ พิจารณาคดีออนไลน์ทุกขั้นตอน ไม่ต้องไปศาล ไม่จำกัดจำนวนเงิน

โดยปกติแล้ว ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้อยู่แล้ว แต่ในการยื่นฟ้องคดีแพ่งตามหลักนั้น จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลตามภูมิลำเนาของจำเลย หรือที่มูลคดีเกิด แต่ในขณะที่การซื้อขายออนไลน์ ส่วนใหญ่จะมีจำนวนเงินไม่มาก หลักร้อยถึงหลักพันบาท จึงทำให้คดีเหล่านี้มาไม่ถึงศาล เพราะมองว่าเป็นการเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย ไม่คุ้มค่าที่จะฟ้องคดีต่อศาล รวมถึงความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินคดี

ศาลจึงได้จัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง (รัชดา) โดยใช้ระบบศาลออนไลน์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอนของการดำเนินคดี เพื่อให้ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย โดยสามารถยื่นฟ้องผ่านเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่จำเป็นต้องมีทนายความ และไม่ต้องไปศาล

คดีซื้อขายออนไลน์ สามารถยื่นฟ้องคดีได้เฉพาะทางเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ต้องนำกระดาษมายื่นฟ้องที่ศาลเหมือนคดีปกติ อีกทั้งผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้าได้ใน 12 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ยื่นเรื่องเข้ามา ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากในการพิจารณาคดี

คดีซื้อขายออนไลน์ ไม่ว่าสินค้าจะราคาหลักสิบหรือหลักร้อย ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องคดีได้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นสินค้าชนิดใดและราคาเท่าไร แต่มีเงื่อนไขว่าสินค้าที่ซื้อขายกันนั้นจะต้องซื้อขายกันผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น

 

การยื่นฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ มีขั้นตอนดังนี้

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/eFiling หรือเว็บไซต์ของศาลแพ่ง เริ่มสร้างบัญชีผู้ใช้งาน โดยเลือกประเภทผู้ใช้งานสำหรับประชาชน ลงทะเบียนผู้ใช้งานในระบบ (สำหรับผู้ใช้งานใหม่)

2. หลังจากลงทะเบียนแล้ว ล็อกอิน (Log in) เข้าสู่ระบบ ยืนยันเงื่อนไขการใช้งาน และเลือกเมนู คดีซื้อขายออนไลน์ พร้อมกรอกรายละเอียดคำฟ้อง ประกอบด้วยข้อมูลโจทก์ จำเลย ข้อมูลคำฟ้อง พร้อมแนบเอกสารหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้านั้น ๆ มูลเหตุที่เรียกร้อง ข้อมูลความเสียหาย ราคา และสามารถระบุพยานได้ เป็นต้น

เมื่อกรอกรายละเอียดและยื่นคำฟ้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบจะส่งคำฟ้องไปถึงเจ้าพนักงานคดีในศาลแพ่งเพื่อทำการตรวจสอบว่า การฟ้อง ข้อเท็จจริงนั้นครบถ้วนหรือไม่ หากคำฟ้องตรงตามเงื่อนไขการพิจารณาคดีซื้อขายออนไลน์ และข้อมูลถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานคดีจะเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้อง และส่งหมายเรียกแก่จำเลยทางอีเมล เมื่ออีเมลถูกส่งไปยังกล่องข้อความ (Inbox) ของอีเมลจำเลยแล้ว จะถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียก หรือส่งหมายไปทาง SMS หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ (*การส่งหมาย น่าจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับกรณีนี้ เนื่องจากจะต้องมีข้อมูล เช่น อีเมล เบอร์โทร ของจำเลยด้วย)

3. เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบทั้งการพิจารณาคดี การไกล่เกลี่ย และการสืบพยาน ผ่านระบบออนไลน์

ในกรณีที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การผ่านระบบออนไลน์และดำเนินการต่อสู้คดีต่อไปได้

 

การฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ ควรพยายามหาข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวจำเลย และธุรกรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีและการบังคับ ดังนั้นเมื่อสั่งซื้อสินค้าอย่าลืมรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ขาย หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า และหลักฐานการชำระเงิน รวมถึงวิดีโอที่ถ่ายขณะเปิดกล่องสินค้าด้วย เป็นต้น

ทั้งนี้โดยปกติแล้ว หากพบว่าการซื้อขายออนไลน์แล้ว ถูกโกง ถูกหลอกลวง สั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับของ สินค้าไม่ตรงปก ไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ หรือกรณีการสั่งซื้อแบบเก็บเงินปลายทาง (COD) แล้วผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้า ทนายจะดำเนินการแจ้งความและฟ้องคดีอาญา ในข้อหาฉ้อโกง ที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ ซึ่งจะได้ผลลัพท์ที่ดีกว่าการฟ้องคดีแพ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้เสียหายจะเลือกแนวทางไหนเป็นหลัก