ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยมีหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาแสดง ก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้สัญญากู้ยืมเงินจะปิดอากรแสตมป์ไม่ครบก็ตาม เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2544
ป.รัษฎากร มาตรา 118
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
หมายเหตุ อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
ปัญหาว่า หนังสือสัญญาหรือเอกสาร เช่น สัญญากู้ยืมเงินสัญญาเช่าซื้อ มิได้ปิดอากรแสตมป์ ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนหรือปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนแต่ไม่ได้ขีดฆ่าแล้วมีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าว ผู้ออกเช็คจะมีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 หรือไม่นั้น เดิมศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นแนวบรรทัดฐานว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ไม่ใช้บังคับกับคดีอาญา ซึ่งตรงตามที่มาตรา 118 บัญญัติว่า ใช้บังคับกับคดีแพ่งเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 3318/2526,33/2539,9695/2539) ต่อมาศาลฎีกากลับแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมเงินหรือสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 หรือมีการทำสัญญาเช่าซื้อกันเป็นหนังสือตามมาตรา 572 หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย ขาดองค์ประกอบความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(คำพิพากษาฎีกาที่ 5829/2540,2384/2542,5477/2543,7027/2543)
ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่หมายเหตุนี้ เป็นเรื่องที่สัญญากู้ยืมเงินปิดอากรแสตมป์ไม่ครบ ศาลโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยมีสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เท่ากับศาลฎีกากลับไปใช้หลักตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่มีมาแต่เดิมอีก