สมาคมทนายความ

การก่อตั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

ความเจริญก้าวหน้าของวิชาชีพทนายความ ทำให้จำนวนทนายความเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่การแสดงบทบาท การเคลื่อนไหวและการรวมพลังของบรรดาทนายความยังไม่มีรูปแบบที่เป็นเอกภาพ การรวมกลุ่มของทนายความขาดความแน่นเฟ้นเท่าที่ควร เนื่องจากขาดองค์กรหรือสถาบันในการทำหน้าที่เป็นแกนกลางหรือเป็นศูนย์รวมอันชอบด้วยกฎหมาย จึงได้มีการริเริ่มก่อตั้ง “สมาคมทนายความ” ขึ้นจนเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2500 เพื่อให้สถาบันอิสระทำหน้าที่เป็นตัวแทนของทนายความทั่วประเทศ ในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมส่วนรวม ทั้งเอื้ออำนวยผลประโยชน์ ดูแลสวัสดิการแก่ทนายความด้วยกัน ในปี พ.ศ. 2508 ได้มีการตราพระราชบัญญัติทนายความฉบับใหม่ขึ้นใช้โดยพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 นี้มีการโอนอำนาจออกใบอนุญาตว่าความจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มาให้เนติบัณฑิยสภาเป็นผู้มีอำนาจโดยเด็ดขาด เนติบัณฑิตยสภาจึงเป็นทั้งผู้ออกใบอนุญาต ผู้ควบคุมระเบียบและมรรยาททนายความ ซึ่งในขณะนั้นมีสำนักอบรมศึกษากฎหมายขึ้นในเนติบัณฑิตยสภาแล้ว อีกทั้งการควบคุมทนายความในระยะแรกๆ เนติบัณฑิตยสภามุ่งดำเนินการตามแบบเนติบัณฑิตยสภาอังกฤษ จึงกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยต้องผ่านการสอบเป็นเนติบัณฑิตที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตสภาเสียก่อน จึงจะขอจดทะเบียนเป็นทนายความชั้นหนึ่งได้ ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเป็นได้เพียงทนายความชั้นสองเท่านั้นและตามบทบัญญัติให้สิทธิทนายความชั้นหนึ่งว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร ส่วนทนายความชั้นสองมีสิทธิว่าความได้เฉพาะต่างจังหวัดที่ได้รับใบอนุญาต ข้อกำหนดดังกล่าวของเนติบัณฑิตยสภาเป็นการกดขี่และเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จึงก่อให้เกิดกระแสแห่งความไม่พอใจ มีการเคลื่อนไหว เพื่อการต่อสู้คัดค้านกันอย่างกว้างขวาง โดยใช้เวลาในการต่อสู้นานถึง 5 ปีเศษ จึงมีการแก้ไขพระราชบัญญัติทนายความ ในปี พ.ศ. 2514 บัญญัติให้ผู้ที่จบปริญญาตรีทางกฎหมายเป็นทนายความชั้นหนึ่ง มีสิทธิว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร และยังคงให้มีทนายความชั้นสองอยู่ แต่เนื่องจากในระยะต่อมามีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มมากขึ้น ทนายความชั้นสองจึงค่อยๆลดจำนวนลง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสมาคมทนายความ จากเดิมเป็น สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ดังนั้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ของทุกปีจึงถือเป็น วันทนายความ อันเป็นวันสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความตลอดมาจนถึงปัจจุบัน