เมื่อศาลรับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ศาลจะส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย เพื่อให้จำเลยได้รู้ว่าถูกโจทก์ฟ้องคดีด้วยเรื่องอะไร หากจำเลยมีข้อต่อสู้อย่างไรก็ต้องยื่นคำให้การต่อศาลภายในกำหนด
เมื่อถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้วจะต้องดูว่าถูกฟ้องที่ศาลไหน ศาลนัดวันที่เท่าไหร่ และควรรีบปรึกษาทนายพร้อมกับแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆในศาลแทน
เมื่อได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยต้องยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
- หมายเรียกคดีแพ่งสามัญ
– กรณีส่งหมายโดยวิธีธรรมดา จำเลยต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
การส่งหมายโดยวิธีธรรมดา เช่น เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยส่งให้แก่จำเลยหรือบุคคลที่มีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่ในบ้านหรือที่ทำงานของจำเลยเป็นผู้รับหมาย
– กรณีส่งหมายโดยวิธีอื่น จำเลยจะต้องยื่นคำให้การภายใน 30 วัน นับแต่วันส่ง
การส่งหมายโดยวิธีอื่น เช่น การปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ในที่แลเห็นได้ง่ายที่บ้านหรือที่ทำงานของจำเลย หรือการประกาศทางหนังสือพิมพ์ หรือทำโดยวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร
- หมายเรียกคดีมโนสาเร่ / คดีไม่มีข้อยุ่งยาก / คดีผู้บริโภค จำเลยสามารถยื่นคำให้การก่อนวันนัดหรือในวันนัดพิจารณาที่กำหนดไว้ได้
ผลของการไม่ยื่นคำให้การ
หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ เท่ากับจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ โดยศาลจะสืบพยานหลักฐานโจทก์ฝ่ายเดียว จำเลยไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบ เพียงแต่มีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้เท่านั้น การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมีผลทำให้จำเลยแพ้คดีได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากจำเลยจะต้องยื่นคำให้การแล้ว จำเลยยังมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน ต้องส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและโจทก์ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย มิฉะนั้นจะนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบไม่ได้และห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น