การขอประกันตัวหรือการขอปล่อยชั่วคราว คือ การที่ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาคดี
ยื่นคำร้องขอประกันตัว
1. เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
2. เมื่อผู้ต้องหาต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อศาลนั้น
3. เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้องแล้ว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
4. เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้ว แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือมีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
5. เมื่อศาลส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น หรือจะยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีก็ได้
ทั้งนี้การปล่อยชั่วคราวในชั้นใดใช้ได้เฉพาะชั้นนั้น เมื่อชั้นของการขอปล่อยชั่วคราวเปลี่ยนไปต้องยื่นขอปล่อยชั่วคราวใหม่
ในกรณีที่มีการปล่อยชั่วคราวโดยมีการวางเงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นเป็นประกัน และยังไม่ได้รับคืน หากประสงค์จะขอปล่อยชั่วคราวต่อไปสามารถยื่นคำร้องต่อศาล โดยขอให้ถือเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นหลักประกันต่อไปก็ได้
ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้หรือจะขอปล่อยชั่วคราวใหม่ก็ได้ แต่การยื่นใหม่ควรมีเหตุผลอันสมควรที่จะทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมด้วย
ติดต่อยื่นคำร้องขอประกันตัวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของศาล เขียนคำร้องขอประกันตัว
เอกสารประกอบคำร้องขอประกันตัว
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ทะเบียนบ้าน
หลักประกัน
1. เงินสด
2. หลักทรัพย์อื่น เช่น
– โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องมีหนังสือรับรองประเมินราคาที่ดิน ซึ่งออกให้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน รับรองโดยเจ้าพนักงานที่ดิน
– สมุดเงินฝากธนาคาร ต้องมีหนังสือรับรองยอดเงินฝากคงเหลือปัจจุบัน พร้อมระบุข้อความว่าธนาคารจะไม่ให้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากศาล
3. มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน โดยแสดงหลักทรัพย์
หากเอกสารที่ต้องนำมาในวันยื่นคำร้องขอประกันตัวไม่ครบถ้วน ผู้ขอประกันอาจขอผัดผ่อนต่อศาลเพื่ออนุญาตให้นำมาส่งในภายหลังได้
กรณีหลักทรัพย์ที่นำมาในวันยื่นขอประกันตัวมีราคาไม่เพียงพอตามที่ศาลกำหนดวงเงินประกัน ผู้ขอประกันอาจขอผัดผ่อนต่อศาลเพื่ออนุญาตให้นำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบในภายหลังได้
เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่ง
การอนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว ศาลจะพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
1. ความหนักเบาแห่งข้อหา
2. พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
3. พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
4. เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
5. ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
6. ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
ศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
ทนายความปรึกษากฎหมายกับทนายฟรี